กรมอนามัย ชวน อปท.รณรงค์ “วันน้ำโลก”ทำน้ำประปาในชนบทให้สะอาด เพียงพอ เท่าเทียม

               กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มงวดผู้ดูแลระบบประปาหมู่บ้านในการเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา เพื่อให้มีน้ำประปาที่สะอาด เพียงพอ บริการแก่ประชาชนในเขตชนบทอย่างเท่าเทียม

              นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันน้ำโลก” หรือ "World Day for Water” ในปีนี้ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ในระดับโลก คือ "Leaving no one behind : เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกเกิดความตื่นตัว เรื่องการบำรุงรักษา อนุรักษ์ พัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการสุ่มตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านในปี 2561 จำนวน 445 แห่ง พบว่า คุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปา ดื่มได้กรมอนามัย เพียงร้อยละ 19.1 ส่วนมากจะปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียและฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย บ่งบอกว่าน้ำประปาหมู่บ้านมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคสูง สาเหตุมาจากไม่มีการเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรค นอกจากนี้ ในหน้าร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีขึ้นประกอบกับคลอรีนอิสระที่หลงเหลือในน้ำประปาก็สามารถสลายตัวได้ง่ายขึ้น อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินอาหารที่มาจากน้ำไม่สะอาด กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มงวดผู้ดูแลระบบประปาหมู่บ้านในการเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา เพื่อให้มีน้ำประปาที่สะอาด เพียงพอ บริการแก่ประชาชนในเขตชนบทอย่างเท่าเทียมกับประชาชนในเขตเมือง รวมทั้งยังเป็นการร่วมกันรณรงค์ เนื่องในวันน้ำโลกอีกด้วย
          ​ นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า คุณภาพน้ำประปานอกจากจะต้องได้มาตรฐานตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปา ดื่มได้ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกแล้ว น้ำประปาควรมีคลอรีนอิสระหลงเหลืออยู่ 0.2 - 0.5 ส่วนในล้านส่วนหรือมิลลิกรัมต่อลิตร จึงจะสามารถป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ ทั้งนี้ ประชาชนที่บริโภคน้ำประปาในช่วงหน้าร้อนอาจจะได้กลิ่นคลอรีนแรงมากขึ้น อาจจะจะตั้งทิ้งไว้ก่อนประมาณ 30 นาทีเพื่อให้คลอรีนระเหยไปหรืออาจจะใช้เครื่องกรองที่มีถ่านกัมมันต์หรือ Activated carbon เป็นสารกรองเพื่อกำจัดคลอรีนในน้ำประปาก่อนนำมาบริโภคในครัวเรือนก็ได้ และในกรณีที่จำเป็นต้องนำขวดพลาสติกเก่ามาใช้ก็ควรทำความสะอาดให้ทั่วถึงและต้องสังเกตลักษณะของขวด หากมีรอยชำรุด รั่ว แตกร้าว บุบ ก็ไม่ควรนำมาใช้ หรือหากเป็นขวดที่มีการปนเปื้อนดินก็ควรหลีกเลี่ยงในการนำมาใช้ซ้ำเช่นกัน ซึ่งในปี​ 2561​ กรมอนามัยได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด​ ขนาด​ 20​ ลิตรในครัวเรือน เพื่อตรวจสอบคุณภาพตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้​ พบผ่านเกณฑ์มาตรฐาน​ ร้อยละ​ 53.42 โดยส่วนใหญ่มีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียและฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย​ แสดงว่ามีความเสี่ยงที่น้ำดื่มบรรจุภาชนะดังกล่าวจะเกิดการปนเปื้อน​ ซึ่งการดูแลรักษาความสะอาดภาชนะก็มีส่วนที่ทำให้น้ำดื่มมีความสะอาดปลอดภัย ประชาชนจึงควรให้ความสำคัญ​ นอกจากนี้ ต้องระวังการขัดถูเพื่อล้างทำความสะอาดภาชนะพลาสติก​อาจทำให้เกิดรอยขูดขีดหรือการบุบชำรุดของขวดที่เกิดจากการนำมาใช้ซ้ำ หรือหากขวดน้ำตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความร้อนหรือได้รับแสงแดดอาจทำให้สารเคมีจากขวดพลาสติกปนเปื้อนลงในน้ำที่อยู่ในขวดได้
            ​"ทั้งนี้ สำหรับในพื้นที่ทุรกันดารที่ขาดแคลนน้ำสะอาด ก่อนนำมาดื่มควรต้มให้เดือดอย่างน้อย 1-2​ นาที เก็บในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด ส่วนการนำน้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำผิวดินแหล่งอื่น ๆ มาใช้โดยตรง ควรปรับปรุงคุณภาพน้ำและฆ่าเชื้อโรคก่อน ด้วยการแกว่งสารส้มชนิดก้อนในน้ำและให้สังเกตตะกอนในน้ำ หากเริ่มจับตัวให้ตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอน แล้วนำเฉพาะน้ำใสมาฆ่าเชื้อโรคโดยใช้หยดทิพย์ อ.32 ของกรมอนามัย ซึ่งเป็นสารละลายคลอรีนชนิดเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วน 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร​ ปล่อยไว้ให้มีระยะเวลาฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อย 30 นาที ก่อนนำไปใช้จะช่วยป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำ ที่สำคัญควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกรอง​ รองหรือตักน้ำใส่ภาชนะบรรจุ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์จากมือที่ไม่สะอาด ช่วยให้ประชาชนได้บริโภคน้ำที่สะอาด ปลอดภัย เป็นการป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 

การคัดแยกขยะเริ่มต้นได้ที่ตัวคุณ

กรมอนามัย

 ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเผย ในปี 2559 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นในประเทศไทยมากถึง 27.06 ล้านตัน เมื่อเทียบปริมาณขยะแล้วใน 1 วัน มีคนทิ้งขยะวันละ 1.14 กิโลกรัมต่อคน โดยนอกจากข้อมูลของปริมาณขยะที่พบแล้วยังมีเรื่องของการทิ้งขยะและกำจัดขยะได้ไม่ถูกวิธี ส่งผลให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมและส่งกลิ่นรบกวนต่อพื้นที่อยู่อาศัยโดยรอบ

 ปัญหาขยะล้นเมืองในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขได้ยากเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องของการคัดแยกขยะ รวมถึงการกำจัดขยะที่ถูกวิธี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่นจะพบปัญหาการถ่ายเทขยะไม่ทัน หรือการทิ้งขยะไม่เป็นที่ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะสะสมจนกลายเป็นวิกฤตเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยได้ในที่สุด

 บทความนี้จะมาแนะนำเรื่องการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีโดยเริ่มได้จากตัวคุณเอง เพื่อช่วยในการลดปัญหาขยะล้นเมืองและรักษาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ทำไมเราต้องคัดแยกขยะ

 หลังจากที่เราทิ้งขยะลงไปในถังแล้ว เรากลับไม่รู้เลยว่าขยะเหล่านั้นอาจจะไปส่งผลกระทบต่อผู้อื่นรวมถึงระบบนิเวศได้ง่ายๆ เพราะขยะหลากหลายรูปแบบจะไปกองทับถมกันโดยที่ไม่ได้ถูกแยกประเภทตั้งแต่แรก สิ่งที่ปะปนอยู่ในกองขยะเหล่านั้นก็จะกลายเป็นแหล่งเชื้อโรค และแบคทีเรียขนาดใหญ่ที่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้ที่สัมผัสกับขยะเหล่านี้โดยตรงได้

 นอกจากนี้ขยะมูลฝอยเป็นขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก ซึ่งนอกจากจะเป็นของจำพวกพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ เศษวัสดุเหลือใช้ เศษอาหาร ยังมีของจำพวกขยะอันตรายที่ถูกทิ้งปะปนไปกับขยะอื่นๆ เช่น ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ที่สามารถปล่อยสารเคมีไปปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างง่ายดาย

 การสร้างขยะเริ่มต้นที่ตัวของเราเอง จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงควรคัดแยกขยะตามประเภทก่อนนำไปทิ้งที่ถังขยะสาธารณะ นอกจากจะเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสาธารณะแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการป้องกันปัญหากองขยะที่จะไปทำลายสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

การคัดแยกขยะตามประเภท

การคัดแยกขยะแต่ละประเภทควรใส่ไว้ในถุงเดียวกัน อาจจะเป็นถุงดำหรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่และมัดปากถุงให้สนิท ก่อนนำไปทิ้งที่ถังขยะสาธารณะที่แบ่งประเภทของขยะนั้นๆ ไว้แล้ว ได้แก่

  • ขยะทั่วไป

ถังขยะสาธารณะสำหรับขยะประเภทนี้จะเป็น “สีน้ำเงิน”

ขยะทั่วไปเป็นขยะจำพวกเศษกระดาษ ซองพลาสติก เปลือกลูกอม หรือของจำพวกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ที่ไม่คุ้มค่ากับการนำไปรีไซเคิล ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปกำจัดตามกระบวนการ เช่น การฝังกลบ การเผาด้วยเตาเผาขยะ เป็นต้น

  • ขยะเปียก

ถังขยะสาธารณะสำหรับขยะประเภทนี้จะเป็น “สีเขียว”

ขยะเปียกเป็นขยะย่อยสลายง่ายที่อยู่ในรูปแบบของเศษอาหารที่กินเหลือ วัตถุดิบที่เน่าเสียได้ง่าย ผลไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ ซากพืช ซากสัตว์ ที่เมื่อทิ้งไว้ไม่นานจะส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ขยะเหล่านี้อาจสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ เช่น การนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น

  • ขยะรีไซเคิล

ถังขยะสาธารณะสำหรับขยะประเภทนี้จะเป็น “สีเหลือง”

ขยะรีไซเคิลมักเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วหรือวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ เช่น แก้ว กระป๋อง ขวดน้ำ เศษพลาสติก ที่สามารถนำไปหลอมเพื่อแปรรูปสำหรับใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ขยะประเภทนี้จะมีมูลค่าสามารถเก็บไว้ขายให้กับคนที่รับซื้อของเก่า เนื่องจากสามารถนำไปสร้างประโยชน์ต่อได้

  • ขยะอันตราย

ถังขยะสาธารณะสำหรับขยะประเภทนี้จะเป็น “สีแดง”

ขยะอันตรายที่อาจมีสารปนเปื้อนไปกับสภาพแวดล้อมได้ เช่น กระป๋องสเปรย์ แบตเตอรี่ ถ่ายไฟฉาย อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพ ควรถูกแยกออกจากขยะทั่วไป เนื่องจากขยะเหล่านี้จะมีสารประกอบทางเคมีอันตรายหลายอย่างที่ต้องถูกกำจัดอย่างถูกวิธี

การลดขยะที่ต้นทาง

ปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากเราทุกคน การช่วยลดปัญหานี้ให้เบาลงได้คือการเริ่มสร้างจิตสำนึกของตนเองก่อนทิ้งขยะทุกครั้ง ควรแยกถังขยะออกไปตามประเภทของขยะ เพื่อการจัดการขยะในขั้นตอนต่อไปที่ง่ายลง โดยสามารถทำได้ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว และชุมชน ให้มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีวิธีการลดปริมาณขยะให้น้อยลงได้ด้วยวิธีดังนี้

  • ลดการใช้งาน (Refuse)

ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์ วัสดุห่อหุ้มสินค้า ที่จะสร้างปริมาณขยะเพิ่มขึ้น เช่น ถุงหิ้วพลาสติก กล่องโฟม หรือสิ่งที่ใช้งานได้ครั้งเดียวแล้วทิ้งซึ่งสร้างปริมาณขยะมากขึ้นและย่อยสลายได้ยาก

  • นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse)

การนำบรรจุภัณฑ์ หรือถุงพลาสติกที่ใช้แล้วแต่ยังใช้งานได้อยู่กลับมาใช้ซ้ำ

  • นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดปริมาณขยะและมลพิษกับสิ่งแวดล้อม โดยการนำของที่ใช้แล้วมาเพิ่มมูลค่า โดยนำเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้งเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถนำมาใช้งานหรือขายออกสู่ตลาดได้

สรุป

เราเห็นแล้วว่าปัญหาขยะล้นเมืองนั้นมีสาเหตุมาจากพวกเราทุกคนที่ยังขาดความเข้าใจในการคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกับเรา

ในวันนี้ปัญหาขยะล้นเมืองไม่ได้มีแค่ตามชุมชนหรือเมืองใหญ่เท่านั้น ยังมีขยะทั้งในแม่น้ำและทะเลอีกเป็นจำนวนมาก และจะก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศได้ในอนาคต

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะลงด้วยตัวของเราเอง ด้วยการคัดแยกประเภทของขยะก่อนนำไปทิ้งทกครั้ง เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัดหรือใช้ประโยชน์ต่อไปได้

สถิติผู้เข้าชม

8010562
วันนี้
เมื่อวาน
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทุกวัน
12577
9454
62891
267799
477960
8010562

กลุ่มงาน

ควบคุมโรคติดต่อ
ควบคุมโรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิตฯ
คุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข
ทันตสาธารณสุข
นิติการ
บริหารทรัพยากรบุคคล
บริหารทั่วไป

และหน่วยงานภายใน

ประกันสุขภาพ
พัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ
พัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข
แพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ส่งเสริมสุขภาพ
อนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอานามัย
สำนักงานเลขานุการและอำนวยการ
สหกรณ์ออมทรัพย์

ติดต่อเรา

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

037 211 626

037 211 124

104 ม.8 ต.รอบเมือง อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี 25000
  (เลขเสียภาษี 0994000261438)