จากการสำรวจสถานการณ์ฟันผุในเด็กไทยพบว่าเด็กเริ่มมีฟันผุตั้งแต่อายุ 9 เดือน และพบว่าเด็กอายุ 3 ปีมีฟันผุเฉลี่ย 3 ซี่ต่อคน สาเหตุหลักของฟันผุในเด็กเล็กมาจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น การให้เด็กทานขนมหรือนมที่มีรสหวานเป็นประจำ การปล่อยให้เด็กหลับคาขวดนมหลังจากฟันขึ้นแล้ว หรือผู้ปกครองละเลยเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก โดยไม่ได้เริ่มแปรงฟันตั้งแต่น้ำนมซี่แรกขึ้น
ผลกระทบของโรคฟันผุในเด็กสามารถส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพช่องปากในอนาคตได้ การมีฟันน้ำนมผุ เด็กจะปวดฟัน เคี้ยวอาหารไม่ได้ ร่างกายจะได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ส่งผลต่อการเจริญเติบโต อีกทั้งอาการปวดฟันยังส่งผลต่อการนอนหลับและการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กตัวเล็กๆ สามารถขัดขวางพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์และสติปัญญาได้
นอกจากนี้เด็กที่มีฟันน้ำนมผุก็มักจะพบว่าฟันแท้ผุไปด้วย เนื่องจากเด็กที่มีฟันผุจะมีเชื้อก่อโรคฟันผุในช่องปากมากกว่าปกติซึ่งจะส่งผลให้ฟันแท้ที่กำลังจะขึ้นใหม่นั้นเกิดฟันผุได้เช่นเดียวกัน
ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพช่องปากและการปลูกฝังเด็กในเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เด็กมีคุณภาชีวิตที่ดี เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีฟันที่แข็งแรงและไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก
ทำไมเด็กถึงมีฟันผุง่าย?
ผู้ปกครองหลายคนคงกำลังสงสัยว่าลูกอายุยังน้อยแต่ทำไมเริ่มมีฟันผุแล้ว
ความจริงแล้วฟันผุสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกงอกขึ้นมา โดยมีปัจจัยที่ทำให้ฟันผุคือพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมและการดูแลความสะอาดช่องปากที่ไม่ทั่วถึง
โรคฟันผุเกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากร่วมกับเศษอาหารและน้ำลาย สะสมเป็นคราบขี้ฟันหรือคราบแบคทีเรีย ซึ่งมีลักษณะเหนียวเกาะติดแน่นอยู่ตามผิวฟัน ไม่สามารถหลุดออกจากการบ้วนน้ำหรือการเช็ดเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ แบคทีเรียเหล่านี้สามารถเปลี่ยนน้ำตาลและแป้งให้เป็นกรดที่มีฤทธิ์ทำลายผิวฟันจนเกิดเป็นรูเล็กๆ เมื่อรูเล็กๆ ขยายใหญ่ขึ้น เด็กจะเริ่มมีอาการเสียวฟัน และปวดฟันได้
ฟันน้ำนมจะเป็นฟันที่เด็กใช้งานไม่น้อยกว่า 5-10 ปีก่อนจะมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ ฟันน้ำนมของเด็กนั้นมีโอกาสผุได้ง่ายและลุกลามไวกว่าฟันแท้ เนื่องจากชั้นเคลือบฟันน้ำนมมีความบางกว่าฟันแท้ การเลี้ยงดูที่มองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไป
เช่น การให้เด็กดื่มนมจากขวดและหลับไปพร้อมกับขวดนม หรือการปล่อยให้เด็กกินขนมหวานตามใจชอบแล้วไม่ได้แปรงฟัน เมื่อเชื้อแบคทีเรียได้น้ำตาลเป็นอาหารก็จะผลิตกรด และกรดเหล่านี้จะขังอยู่ในแผ่นคราบขี้ฟันเป็นเวลานาน เมื่อกรดสัมผัสฟันเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดการทำลายของผิวฟันอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการกำจัดคราบขี้ฟันเหล่านี้
รูปแสดงแผ่นคราบขี้ฟันหรือคราบแบคทีเรียที่สะสมเป็นระยะเวลานานจนมีสีเหลืองที่บริเวณคอฟัน
การสังเกตอาการฟันผุในเด็ก
เราสามารถสังเกตฟันผุในระยะเริ่มแรกของเด็กได้จาก
- รอยสีขาวขุ่นบริเวณคอฟัน
- มีจุดสีดำหรือสีน้ำตาลเล็กๆ บนผิวฟัน
และเมื่อเมื่อพบรูผุที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเด็กจะมีอาการปวดฟัน หรือเสียวฟันเมื่อดื่มน้ำเย็น น้ำร้อน หรือของหวาน ควรได้รับการรักษาโดยการอุดฟัน ซึ่งเมื่อฟันผุลุกลามจนเกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟัน เด็กจะปวดฟันมากจนนอนไม่หลับ ต่อมาจะเกิดหนอง ถึงขั้นนี้ก็คงจะต้องทำการรักษารากฟันหรือถอนฟัน
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ฟันผุ
-
น้ำตาลต้นเหตุใหญ่ของโรคฟันผุ
อาหารส่วนใหญ่ที่เด็กกินในปัจจุบันมีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลอยู่แทบทุกอย่าง ตั้งแต่นม ขนมอบกรอบ ขนมหวาน น้ำอัดลม ซึ่งแป้งและน้ำตาลเหล่านี้จะเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของแบคทีเรียที่พร้อมจะทำปฏิกิริยากับน้ำตาลเหล่านี้ให้เป็นกรดที่พร้อมจะทำลายผิวฟันไปทีละนิดจนลุกลามไปเรื่อยๆ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร
นอกจากอาหารและน้ำตาลแล้ว ปัจจัยในช่องปากก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฟันผุได้ เช่น รูปร่างของฟันแต่ละซี่ที่มีร่องลึก ตำแหน่งที่ผิดปกติ ซ้อนเกไม่เป็นระเบียบจะทำให้ยากต่อการทำความสะอาด เป็นผลให้เศษอาหารเข้าไปติดอยู่เป็นเวลานานส่งผลให้เกิดฟันผุได้ง่าย
ผลกระทบของโรคฟันผุต่อสุขภาพ
เมื่อพบว่าลูกมีอาการปวดฟัน นั้นคือสัญญาณที่บ่งบอกว่ารอยผุมีขนาดใหญ่และลุกลามไปมากแล้ว และควรได้รับการรักษา
อาการปวดฟันจะมีตั้งแต่ปวดน้อยไปจนถึงปวดมากจนเด็กไม่สามารถใช้กัดหรือเคี้ยวอาหารได้เป็นปกติ เมื่อเด็กเริ่มมีอาการปวดฟันมากขึ้นจะทำให้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากเด็กจะมีความอยากอาหารน้อยลงหรือเลือกกินมากขึ้น ส่งผลให้เด็กขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
และเมื่อเด็กปวดฟันมากจนนอนไม่หลับก็จะกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (growth hormone) เหล่านี้จะส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก
ในเด็กที่มีฟันผุลุกลามมาก สามารถพบการติดเชื้อและเป็นหนองลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ เช่น แก้ม ดวงตา และสมอง หรืออาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ไม่ใช่แค่การส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของเด็กเพียงอย่างเดียว โรคฟันผุยังทำให้เด็กเกิดปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ด้วย
การมีฟันผุทำให้เด็กขาดความมั่นใจในการพูดเนื่องจากฟันมีการเปลี่ยนสีหรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ หรือการที่เด็กต้องถอนฟันน้ำนมออกก่อนที่ฟันแท้ขึ้นก็ส่งผลต่อฟันที่กำลังงอกใหม่ให้มีการล้มเอียงส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากในระยะยาวได้เช่นเดียวกัน
โรคฟันผุป้องกันและรักษาได้
แม้ว่าการเกิดฟันผุจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับเด็ก แต่ก็สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่ทำให้ฟันผุได้ด้วยหลายวิธีทั้งการเลือกแปรงสีฟันที่เหมาะสมกับเด็ก การเลือกยาสีฟัน การปลูกฝังให้เด็กแปรงฟันอย่างถูกวิธี และไปพบทันตแพทย์หรือทันตบุคลการเพื่อตรวจฟันเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เมื่อตรวจพบรอยผุขนาดเล็ก ก็จะทำการรักษาได้ไม่ยุ่งยาก หากรอจนฟันผุลุกลามหรือเด็กมีอาการปวดฟันแล้วจึงค่อยไปพบทันตแพทย์ ก็อาจสายเกินไปที่จะรักษาฟันซี่นั้นไว้ได้
ฟลูออไรด์ ฮีโร่ป้องกันฟันผุ
หลายคนอาจสงสัยว่าฟลูออไรด์ที่โฆษณาในสินค้าที่ใช้ดูแลสุขภาพช่องปาก ทั้งที่อยู่ในยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ยาเม็ดวิตามินเสริม หรือนมฟลูออไรด์นั้นแท้จริงคืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? ซึ่งเราขอตอบคำถามส่วนที่ว่าฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุตามธรรมชาติที่ช่วยป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีงานวิจัยที่มีคุณภาพรองรับจำนวนมาก และศึกษากันมายาวนานมากกว่า 30 ปี โดยฟลูออไรด์จะทำหน้าที่ในการป้องกันฟันผุโดย ทำให้โครงสร้างของฟันแข็งแรงทนกรดมากขึ้น และซ่อมแซมฟันผุเล็กๆ หรือฟันผุระยะแรกโดยการตกตะกอนแร่ธาตุกลับเข้าไปใหม่
พบได้ในยาสีฟันทั่วไปตามท้องตลาดโดยแต่ละยี่ห้อจะมีปริมาณฟลูออไรด์ที่ต่างกัน สังเกตได้จากปริมาณที่บอกบนฉลากข้างหลอดยาสีฟันที่มีหน่วยวัดเป็นส่วนในล้านส่วน (ppm) ปัจจุบันความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุคือ ฟลูออไรด์ความเข้มข้นอย่างต่ำ 1000 ppm โดยควรแปรงอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน
สำหรับการใช้น้ำยาบ้วนปากควรใช้กับเด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูง ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ไม่ควรใช้เนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมการกลืนและการบ้วนได้ดี จึงมีโอกาสที่จะกลืนน้ำยาบ้วนปากได้
นอกจากการใช้ฟลูออไรด์แบบสัมผัสโดยตรงกับกับฟันแล้ว ยังมีฟลูออไรด์แบบทานที่ได้จากอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ยาเม็ดฟลูออไรด์ ยาน้ำ วิตามิน ฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม และนมฟลูออไรด์ ที่เหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 12 ปี สำหรับยาเม็ดและยาน้ำฟลูออไรด์ควรอยู่ในการควบคุมปริมาณโดยทันตเแพทย์ ซึ่งจะต้องมีการประเมินปริมาณฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำและอาหารที่เด็กได้รับก่อนที่จะสั่งจ่ายฟลูออไรด์ให้เด็ก เนื่องจากมีโอกาสที่เด็กจะได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป
-
ทำความรู้จักกับนมฟลูออไรด์
นมทั่วไปเมื่อเด็กดื่มแล้วจะมีคราบนมติดอยู่บนผิวฟันซึ่งถ้าไม่ได้รับการทำความสะอาดให้ดีก็จะเป็นสาเหตุของฟันผุได้ แต่สำหรับนมฟลูออไรด์หรือนมที่มีการเติมโซเดียมฟลูออไรด์เข้าไปในปริมาณที่กรมอนามัยโลกกำหนด จะช่วยให้เด็กที่นอกจากได้รับแคลเซียมจากนมในปริมาณที่เหมาะสมแล้วยังได้รับแคลเซียมซึ่งช่วยในการป้องกันฟันผุโดยที่กลิ่น สี และรสชาติของนมยังคงเดิม
จากการศึกษาของโครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุในประเทศไทยในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าการให้เด็กดื่มนมฟลูออไรด์เป็นระยะเวลา 5 ปี สามารถช่วยลดการเกิดฟันผุในฟันแท้ที่งอกขึ้นมาใหม่ได้ร้อยละ 34.4 และไม่พบผลเสียเรื่องฟันตกกระ จากการได้รับฟลูออไรด์เกินขนาด ซึ่งเด็กยังคงต้องแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตามปกติ
สรุป
โรคฟันผุในเด็กมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กมีฟันน้ำนมซี่แรก โดยมีสาเหตุมาจากการดูแลช่องปากของเด็กที่ไม่สะอาดหรือการปล่อยให้เด็กนอนไปพร้อมกับขวดนมก็ทำให้ยิ่งเพิ่มโอกาสของฟันผุได้มากขึ้น สำหรับเด็กที่โตขึ้นจะเริ่มมีการกินขนมหวาน และขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเพิ่มขึ้นก็ยิ่งทำให้เด็กมีโอกาสฟันผุสูงขึ้นหากไม่ได้รับการทำควาสะอาดเป็นประจำอย่างถูกวิธี
การป้องกันฟันผุเริ่มสร้างให้กับเด็กได้ตั้งแต่การปลูกฝังให้เด็กรักษาความสะอาดของช่องปากตัวเองให้ดี รวมถึงการแปรงฟันที่ถูกวิธีและแปรงอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวันก็ช่วยลดอัตราการเกิดฟันผุได้ เพราะฟันผุไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ช่วงวัยเด็กเท่านั้น ถ้าหากปล่อยให้เกิดฟันผุเป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากระยะยาวไปจนเมื่อเด็กโตขึ้นจะทำให้ปากและฟันมีปัญหาตามมาได้หลายอย่าง
เมื่อมีอาการฟันผุควรไปพบทันแพทย์หรือทันตบุคลากรเพื่อการจัดการปัญหาอย่างถูกวิธี แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการแปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น และไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน โดยควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุไม่เกิน 1 ปี เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ และรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง เพื่อให้เด็กมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพฟันที่แข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย