การดูแลผู้สูงอายุ

 นโยบายการส่งเสริมสุขภาพ

 สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย มีภารกิจหลักในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพของประชากร ตามกลุ่มอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ ในกิจกรรมของการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุนั้น นับเป็นกระบวนการเพิ่มสมรรถนะ ให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพในการดูแลตนเองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการควบคุมปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพ และเป็นผลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีขึ้น ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม 

วัตถุประสงค์ ของงานส่งเสริมสุขภาพกลุ่มผู้สูงอายุ

  1. เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพอนามัยที่พึงประสงค์ สามารถดูแลตนเองได้
  2. เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
  3. เพื่อส่งเสริมผู้สูงอายุได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพตนเอง ครอบครัวและชุมชน

เป้าหมาย

  1. ผู้สูงอายุมีภาวะโภชนาการอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
  2. ผู้สูงอายุมีฟันแท้หรือฟันปลอมใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50
  3. ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10
  4. ผู้สูงอายุออกกำลังกายเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

กลวิธี

  1. พัฒนาคุณภาพบริการเพื่อส่งเสริม เฝ้าระวัง ป้องกันสุขภาพผู้สูงอายุ
  2. เผยแพร่ความรู้ให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง สามารถดูแลตนเองได้
  3. พัฒนาบุคลากรทุกระดับในการให้บริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
  4. พัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการดูแลประชากรผู้สูงอายุ เพื่อการเสริมสุขภาพ
  5. ส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อหารูปแบบการดำเนินงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ทั้งในด้านการส่งเสริมการป้องกัน การเฝ้าระวังสุขภาพและการประเมินผล
  6. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น และภาคเอกชนในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
  7. สนับสนุนให้ครอบครัว และชุมชน มีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุและยอมรับว่าผู้สูงอายุเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม
  8. สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยประสานงานกันเป็นเครือข่าย เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้สูงอายุได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
  9. พัฒนาระบบสารสนเทศ การบริหารจัดการ ให้เอื้อต่องานส่งเสริมสุขภาพตามกลุ่มเป้าหมาย                                                                                                                          

ที่มา:กรมอนามัย

สร้างจิตใจที่แจ่มใสให้ผู้สูงอายุด้วยกิจกรรมทางสังคม

ความชราคือธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ในสังคมผู้สูงอายุมักจะถูกมองว่าเป็นคนแก่เลอะเลือน ทำอะไรไม่ค่อยได้ ความคิดอ่านโบราณ เหมือนเป็นดอกไม้ที่ใกล้โรยราเต็มที อย่างไรก็ตามหากดอกไม้ต้องการน้ำหล่อเลี้ยงฉันใด ผู้สูงอายุก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่ฉันนั้น เนื่องจากเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งสุขภาพร่างกายเสื่อมลงและจิตใจแปรปรวน

ผลกระทบด้านจิตใจของผู้สูงอายุ

ปัญหาด้านสภาพจิตใจของผู้สูงอายุเกิดจากความรู้สึกสูญเสีย ทั้งคนใกล้ชิดอย่างบุตรหลานที่ค่อยๆ เติบโตแยกย้ายไปมีครอบครัว รวมถึงเพื่อนสนิทหรือคู่ชีวิตที่ล้มหายตายจากไป สูญเสียความสามารถการเป็นที่พึ่ง ภาวะผู้นำ การยอมรับจากผู้อื่น อีกทั้งโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาพสังคมแบบในอดีตเริ่มเลือนหายไป การแข่งขันสูงขึ้น จากครอบครัวใหญ่กลายเป็นครอบครัวเล็ก เป็นต้น

ด้วยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะกลับไปเป็นเหมือนเด็กที่ต้องการการพึ่งพาอาศัยจากผู้อื่น สัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพจิตอย่างใกล้ชิดมีดังนี้

  • มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ เบื่อหน่าย
  • ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ค่อยๆ แยกตัวออกมาจากสังคม
  • ไม่อยากทำอะไร
  • มีความเกี่ยวข้องกับโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • ขาดกำลังใจ

จากสัญญาณเตือนเหล่านี้ สามารถพัฒนาจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งปัจจุบันพบว่า 10-20% ของผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีมีภาวะซึมเศร้าโดยเฉพาะผู้หญิง และยิ่งมีอายุมากความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้อัตราฆ่าตัวตายยังพบในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ สะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงของคนสูงวัย

การดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากคนใกล้ชิด แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นผู้ใหญ่ที่เคารพรักต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า ด้วยวัยที่ห่างกันอาจจะทำให้การสื่อสารแตกต่างกันบ้าง ลูกหลานควรพยายามปรับตัวเพื่อที่จะเข้าใจคนวัยนี้มากขึ้น สิ่งแรกที่แนะนำให้ทำคือทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนรวมกับครอบครัว โดยการใช้เวลาอยู่กับผู้สูงอายุพูดคุยและรับฟัง รวมถึงดูแลใส่ใจด้านสุขภาพ พาผู้สูงอายุในบ้านไปพบแพทย์

นอกจากการสนับสนุนภายในครอบครัวแล้ว สังคมภายนอกเองก็มีผลอย่างมาก ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่แต่ในบ้านมีแนวโน้มเกิด “ภาวะเนือยนิ่ง” คือมีความรู้สึกห่อเหี่ยว หดหู่ ดังนั้นการทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจจะสามารถช่วยเยียวยาจิตใจผู้สูงวัยได้มากทีเดียว

กิจกรรมทางสังคมจะช่วยส่งเสริมผู้สูงอายุอย่างไร?

กิจกรรมทางสังคมจะทำให้ผู้สูงอายุได้พบปะกับผู้อื่นในวัยใกล้เคียงกัน จึงไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ปรับตัวและยอมรับตัวเองได้ง่ายขึ้น สนับสนุนให้พวกเขามีความนับถือในตัวเอง ป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้า แนวทางการจัดกิจกรรมสังคมควรจะมีความหลากหลายและสามารถแก้ปัญหาของผู้สูงอายุได้ เช่น ช่วยดูแลสุขภาพ ทำให้จิตใจสดชื่น มีความภูมิใจในชีวิต จัดการกับสภาวะอารมณ์ เป็นต้น

กิจกรรมทางสังคมที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ

กิจกรรมรูปแบบออกกำลังกาย

ผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละ 30 นาที หรือมีกิจกรรมทางกายสะสมรวม 150 นาที/สัปดาห์ คนใกล้ชิดอาจมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อผู้สูงอายุทำกิจกรรมทางกาย แต่กิจกรรมนี้มีประโยชน์อย่างมากเพราะทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เพิ่มความแข็งแรง ทนทาน เพราะสุขภาพกายมีผลต่อสุขภาพจิตโดยตรง นอกจากนี้การออกกำลังกายยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลได้

การออกกำลังกายที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ เดินเร็วหรือเดินแกว่งแขนเร็วๆ ว่ายน้ำ รำมวยจีน ไทเก๊ก เต้นลีลาศ ถีบจักรยานอยู่กับที่ ยกน้ำหนักเบาๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา บีบลูกบอลยางเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งมือ โยคะ หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

สามารถผสมผสานกิจกรรมการออกกำลังกายเข้ากับเกมเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน ผู้สูงอายุจะได้มีอารมณ์ขัน สุขภาพจิตดีขึ้น แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เพื่อความปลอดภัยด้วยเช่นกัน

กิจกรรมเผยแพร่ความรู้

“อาบน้ำร้อนมาก่อน” ข้อดีของผู้สูงอายุคือมีวุฒิภาวะและประสบการณ์อย่างมาก จึงสามารถเป็นที่ปรึกษา แบ่งปันความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้ กิจกรรมรูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ผู้สูงอายุบางท่านมีความสามารถในงานวิชาชีพ เช่น งานฝีมือ แกะสลัก ทำอาหาร ทำขนมสูตรโบราณ เย็บปักถักร้อย เป็นต้น การแบ่งปันความรู้เช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสืบทอดวิชาชีพให้คงอยู่ แต่ยังทำให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจได้อีกด้วย

กิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้ผู้สูงอายุ  

ในทางกลับกันการให้ความรู้ใหม่ๆ กับผู้สูงอายุก็สามารถพัฒนาด้านจิตใจได้ ผู้สูงอายุจะได้มีงานอดิเรกทำในยามว่าง เช่น จัด Workshop สอนทักษะการถ่ายภาพ หรือสอนการใช้งานสื่อออนไลน์ เป็นต้น

กิจกรรมการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวไม่ใช่กิจกรรมสำหรับวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถให้ผู้สูงอายุได้เปิดหูเปิดตา พบเจออะไรใหม่ๆ มีความผ่อนคลาย ลดความเบื่อหน่ายได้อย่างมาก รูปแบบการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุควรเน้นที่คุณภาพดี มีความคุ้มค่า คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ผสมผสานกับกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ เช่น เรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ทัวร์ย้อนวันวาน ทัวร์อาหารอร่อย เป็นต้น  

กิจกรรมตามประเพณีและศาสนา

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเนื่องในเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ หลังจากลูกหลานต้องแยกย้ายกันทำงาน ในโอกาสนี้ควรกลับบ้านเพื่อเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ นี่เป็นช่วงเวลาที่จะได้พบปะกับครอบครัว ใช้เวลาพร้อมหน้าพร้อมตาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างรดน้ำดำหัว

กิจกรรมพัฒนาสังคม

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น ทำบุญตักบาตร ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ช่วยเหลือเด็กยากไร้ บริจาคทรัพย์ ผู้สูงอายุสามารถใช้เวลาว่างเพื่อทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ในขณะเดียวกันก็ส่งผลดีต่อผู้ให้ในแง่ทำให้จิตใจเบิกบาน มีความสุขกลับมาด้วย

กิจกรรมธรรมปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรม เช่น สวดมนต์เพื่อระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ การถือศีล 5 หรือศีล 8 เป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุมักจะปฏิบัติอยู่เป็นประจำ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้สำรวมกาย วาจา ใจ ฝึกกำหนดรู้ในทุกๆ อิริยาบทและลมหายใจ ธรรมะจึงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจทำให้ผู้สูงอายุเข้าใจความเป็นไปของโลก ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเกิดความสุขสงบอย่างแท้จริง

สรุป

วัยชราไม่ใช่วัยที่ไร้ประโยชน์เพียงเพราะร่างกายเสื่อมถอยลง มีหลายคนสร้างคุณงามความดีให้กับโลกมากมายแม้อายุจะล่วงเลยมาถึงช่วงบั้นปลายชีวิต เช่น เซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง ศาสตราจารย์นายแพทย์ชาวอังกฤษ ค้นพบยาเพนิซิลลินเมื่ออายุ 70 ปี และอับเบิร์ต ชไวท์เซอร์ ได้รับรางวัลโนเบลเมื่ออายุ 80 ปี

ผู้สูงอายุจึงเป็นวัยที่มีคุณค่า เพราะเต็มไปด้วยประสบการณ์ชีวิตและความรู้ ดั่งต้นไม้ใหญ่ที่ยิ่งอายุมากก็ยิ่งแผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็น ด้วยการเปลี่ยนแปลงของวัยและสภาพสังคมอาจจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง คนรอบตัวจึงควรให้การดูแลใส่ใจ กิจกรรมทางสังคมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลาย เพิ่มความนับถือตัวเอง กลายเป็นต้นไม้ที่หยั่งรากลึกให้แก่ลูกหลานต่อไป

 

สถิติผู้เข้าชม

9789902
วันนี้
เมื่อวาน
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทุกวัน
3999
5196
20056
92407
149563
9789902

กลุ่มงาน

ควบคุมโรคติดต่อ
ควบคุมโรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิตฯ
คุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข
ทันตสาธารณสุข
นิติการ
บริหารทรัพยากรบุคคล
บริหารทั่วไป

และหน่วยงานภายใน

ประกันสุขภาพ
พัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ
พัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข
แพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ส่งเสริมสุขภาพ
อนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอานามัย
สำนักงานเลขานุการและอำนวยการ
สหกรณ์ออมทรัพย์

ติดต่อเรา

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

037 211 626

037 211 124

104 ม.8 ต.รอบเมือง อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี 25000
  (เลขเสียภาษี 0994000261438)