สินเชื่อ

สัญญาเงินกู้ฉุกเฉิน

      1.เงินกู้ฉุกเฉินทั่วไป สหกรณ์ให้กู้รายละไม่เกิน 5 เท่าของอัตราเงินเดือนของสมาชิก ณ วันที่ยื่นกู้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

          1.) สัญญามีอายุ 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา งวดชำระหนี้ไม่เกิน 12 งวด

          2.) เมื่อครบกำหนดสัญญากู้ ผู้กู้ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยครบถ้วน

          3.) ก่อนสัญญากู้จะสิ้นสุดลง หากผู้กู้ประสงค์จะกู้เงินฉุกเฉินอีก ต้องทำคำขอกู้และหนังสือเงินกู้ฉบับใหม่ก่อน ให้ผู้กู้รับเงินกู้ฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จใน 5 วันทำการก่อนหนังสือกู้เดิมสิ้นสุดลง

          ณ วันสิ้นสุดหนังสือกู้เดิม ผู้กู้มีหนี้ชำระอีกเท่าใด ให้สหกรณ์หักชำระหนี้จากหนังสือกู้ฉบับใหม่ก่อนให้ผู้กู้รับเงินกู้ตามหนังสือฉบับใหม่

 

สัญญาเงินกู้สามัญ

       คุณสมบัติของผู้กู้ สมาชิกประสงค์จะกู้เงินสามัญต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

           1.) เป็นสมาชิกและชำระค่าหุ้นรายเดือนติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

          2.) ต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนเงินกู้

      วัตถุประสงค์เงินกู้ สหกรณ์อาจให้กู้เงินเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

          1.) เพื่อการอันจำเป็นหรือประโยชน์ด้านความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตของสมาชิก ตามที่คณะกรรมการเงินกู้เห็นสมควร

          2.) เพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์เพื่อการอุปโภคบริโภคที่จำเป็น

          3.) เพื่อการศึกษาของสมาชิกหรือบุตรสมาชิก

          4.) เพื่อชำระบัตรเครดิต

          5.) เพื่อชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน

          6.) เพื่อสมาชิกตามโครงการที่สหกรณ์กำหนด

      งวดชำระหนี้ ให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

          1.) ผู้กู้ที่เป็นข้าราชการ ลูกจ้าง หรือข้าราชการบำนาญ ลูกจ้างบำเหน็จรายเดือน และเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ส่งคืนเงินกู้ให้เสร็จสิ้นไม่เกิน 150 งวด ทั้งนี้ไม่รวมถึงเงินกู้สามัญ เพื่อชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน

          2.) สมาชิกอาจขอชำระหนี้แบบใดก็ได้

                    ก. แบบสหกรณ์ ส่งต้นเงินเท่ากันทุกงวดและดอกเบี้ยคิดจากต้นเงินแห่งหนี้คงเหลือแต่ละงวด

                    ข. แบบธนาคาร ส่งชำระเงินเท่ากันทุกงวดจนกว่าจะหมดหนี้ เงินที่ชำระหนี้จะหักส่วนหนึ่งเป็นดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือจึงนำไปหักต้นเงิน

 

         หลักประกัน สหกรณ์อาจกำหนดให้ผู้กู้ใช้หลักประกันเงินกู้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ ดังต่อไปนี้

                    1.) บุคคลซึ่งเป็นสมาชิกค้ำประกัน

                    2.) สิทธิการถอนเงินฝากที่มีอยู่กับสหกรณ์

                    3.) ตราสารหนี้ภาครัฐ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ

                    4.) สลากออมสิน

                    5.) พันธบัตรเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ

                    6.) กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคุ้มครองสินเชื่อที่สหกรณ์เป็นผู้รับผลประโยชน์

                    7.) หลักทรัพย์อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

              1. บุคคลซึ่งเป็นสมาชิกค้ำประกัน ให้ค้ำประกันเฉพาะจำนวนเงินที่เหลือจากจำนวนเงินที่กู้ หักด้วยมูลค่าหุ้นที่มีอยู่ในเวลานั้น โดยสมาชิกคนหนึ่งจะค้ำประกันได้ในวงเงินไม่เกินจำนวนเงินกู้ของตนเอง

                    1.) สมาชิก 1 คน จะค้ำประกันไม่เกิน 7 สัญญา ภายในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อ 1 สัญญา และกำหนดวงเงินค้ำประกันให้ชัดแจ้ง

                    2.) สมาชิกผู้ค้ำประกันจะมีภาระค้ำประกันได้ไม่เกินอายุ 75 ปี

                    3.) บุคคลค้ำประกันเงินกู้นั้น ต้องไม่เป็นคู่สมรสของผู้กู้

                2.  สิทธิการถอนเงินฝาก การใช้สิทธิเป็นหลักประกัน ให้ปฏิบัติดังนี้

                    1.) ผู้กู้ต้องทำหนังสือสละสิทธิการถอนเงินฝากที่ฝากไว้กับสหกรณ์ และหนังสือยินยอมให้สหกรณ์ถอนเงินฝาก เพื่อชำระหนี้ของสมาชิกด้วย

                    2.) ผู้กู้ต้องมอบสมุดเงินฝากนั้นไว้กับสหกรณ์

                    ระหว่างการใช้สิทธิเป็นหลักประกัน สหกรณ์ยังคงจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากตลอดระยะเวลาที่ฝากไว้กับสหกรณ์ และสหกรณ์อาจอนุญาตให้ถอนเงินฝากได้ แต่จำนวนเงินที่เหลือในสมุดเงินฝากต้องไม่น้อยกว่าหนี้ที่สมาชิกยังคงค้างชำระอยู่

               3. กรณีใช้หลักประกันอื่น ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตราสารเงินกู้อื่นๆของรัฐบาล พันธบัตรเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ สลากออมสิน เป็นต้น คณะกรรมการดำเนินการหรือคณะกรรมการเงินกู้เห็นสมควรนำมาวางเป็นหลักประกันได้ไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ขณะนั้น ทั้งนี้ ผู้กู้จะไม่สามารถไถ่ถอนหลักประกันอื่นดังกล่าวตลอดสัญญาได้

          การตรวจสอบหลักประกัน

               1.) ให้ผู้จัดการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ตรวจสอบการให้เงินกู้ทุกรายมีหลักประกันถูกต้อง เมื่อเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่อง ผู้จัดการต้องแจ้งให้ผู้กู้จัดการแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 30 วัน และรายงานให้คณะกรรมการดำเนินการ

               2.) สมาชิกผู้กู้เงินที่มีความจำเป็น อาจขอเปลี่ยนหลักประกันเงินกู้ โดยทำหนังสือระบุเหตุผลความจำเป็น เสนอต่อคณะกรรมการเงินกู้ ให้คณะกรรมการเงินกู้มีอำนาจพิจารณา อนุมัติการขอเปลี่ยนหลักประกันเงินกู้

          การรวมหนี้ สมาชิกอาจขอรวมหนี้เงินกู้สามัญได้ ถ้าส่งชำระหนี้เงินกู้สามัญสัญญาใดสัญญาหนึ่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 งวด ยกเว้นเงินกู้สามัญไม่เกินมูลค่าหุ้น

          วงเงินกู้และจำนวนเงินชำระหนี้เงินกู้

               1. วงเงินกู้ไม่เกิน 80 เท่าของเงินเดือนที่สมาชิกได้รับและไม่เกินวงเงินกู้สูงสุดที่สหกรณ์กำหนด (3,500,000 บาท)

                2.  กรณีที่ผู้กู้มีอายุครบ 75 ปีแล้วจะต้องมีเงินกู้คงเหลือไม่เกินร้อยละ 90 ของเงินค่าหุ้น

                3.  จำนวนเงินชำระหนี้เงินกู้ สหกรณ์จะกำหนดให้สมาชิกชำระหนี้เงินกู้สามัญงวดหนึ่งเกินกว่าร้อยละ 70 ของเงินเดือนที่สมาชิกได้รับอยู่ ณ เวลานั้นไม่ได้ โดยไม่รวมยอดเงินชำระหนี้เงินกู้ฉุกเฉิน

                  กรณีสมาชิกมีหลักฐานเป็นหนังสือ แสดงให้เห็นว่ามีรายได้ประจำเหลือเพียงพอต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน โดยไม่เดือดร้อน สหกรณ์อาจให้สมาชิกชำระหนี้งวดหนึ่งเกินกว่าร้อยละ 70 ของเงินเดือนที่สมาชิกได้รับก็ได้ แต่ต้องให้ผู้ค้ำประกันยินยอมด้วยทุกครั้ง

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับบริการของสหกรณ์ 


พิมพ์